หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำศัพท์พวกนี้มาบ้างแล้ว ทั้ง ไม้เทียม ไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม้อัดซีเมนต์ พลาสวูด แต่คราวนี้เราจะอธิบายแบบง่ายๆ เพื่อจะได้ทราบความแตกต่างในแง่มุมต่างๆ และจะได้นำไปเลือกใช้ในการก่อสร้างกัน
ในอดีต มนุษย์จะคุ้นเคยกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะไม้ ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากแล้ว และมักมีราคาแพง ปัจจุบันเลยได้มีการศึกษาทางด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อมาใช้แทนไม้ในส่วนต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พื้น ผนัง หรือส่วนอื่นๆ
คำว่าไม้เทียมก็เริ่มจากจุดนี้ คือ อะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นแผ่นๆ เหมือนไม้แปรรูป ก็เรียกว่าไม้เทียมซะหมด
พูดง่ายๆ ไม้เทียม ก็คือ วัสดุอะไรก็ได้ ที่เอามาแทนไม้
คราวนี้เรามารู้จักไม้เทียมในรูปแบบวัสดุกัน
เริ่มจาก
1. ไฟเบอร์ซีเมนต์
ไฟเบอร์ซีเมนต์เป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยทั่วไปจะผลิตจากวัตถุดิบ 2 ประเภทหลัก ตามชื่อเลยคือ ไฟเบอร์ (หรือเส้นใย) และ ซีเมนต์ ที่เป็นซีเมนต์พอร์ตแลนด์ และซิลิกา มาผสมกันตามสูตรแต่ละโรงงานและยี่ห้อที่ผลิต ซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย
ที่ต้องนำมาผสมกันทั้งสองส่วน เนื่องจากนำคุณสมบัติของแต่ละวัตถุดิบมาใช้ ซีเมนต์เมื่อผสมน้ำจะแข็งแรง แต่ก็มีน้ำหนักมาก อมความร้อนสูง ส่วนเส้นใยไฟเบอร์ (ส่วนใหญ่จะเป็นเซลลูโลส) จะมีความเหนียว แต่ไม่แข็งแรง เมื่อนำมารวมกันก็จะได้วัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติความแข็งแรง น้ำหนักกลาง ทนความร้อนได้ ทนไฟ ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ปลวกไม่ขึ้น ตัดแต่งได้สะดวก ราคาไม่สูงมาก ใช้แทนไม้ที่ขาดแคลนได้ ใช้ทำผนัง พื้น คิ้วอาคาร เป็นต้น
ลักษณะทางกายภาพ
ในท้องตลาดจะมีจำหน่ายในรูปแบบบอร์ด (หรือแผ่น) ก็จะเรียกว่า ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด จะมีขนาดมาตรฐานที่ 1.20 x 2.40 ม. หรือเท่ากับขนาดแผ่นวัสดุอื่นๆ ในท้องตลาด เช่น แผ่นไม้อัด ยิปซั่มบอร์ด ก็จะขนาดเท่ากัน แต่จะมีความหนาที่แตกต่างกันให้เลือกใช้ มีตั้งแต่ 24 มม. 20 มม. 18 มม. 15 มม. 10 มม. 8 มม. 6 มม. แล้วแต่ยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่จะหนาประมาณนี้
วิธีเลือกใช้คือ ถ้าใช้ที่รับน้ำหนักเยอะ ก็ใช้แผ่นหนา ถ้าที่ไหนรับน้ำหนักน้อย ก็ใช้แผ่นบาง เช่น ถ้าใช้ปูพื้นซึ่งเราใช้เดิน รับน้ำหนักมาก เราก็เลือกใช้ความหนาที่ 24 มม. หรือ 20 มม. ซึ่งเป็นความหนาที่ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้ ถามว่าถ้าใช้บางกว่านี้ได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่แผ่นอาจแตกเป็นรู ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง
สำหรับพื้นผิวก็จะมีหลายแบบให้เลือกตามแต่ละยี่ห้อ มีทั้งผิวเรียบ เซาะร่อง ลายเสี้ยนไม้ หรือลายอื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงงานผลิต
เพื่อไม่ให้สงสัย เราได้รวบรวมผู้ผลิตและยี่ห้อต่างๆ ที่จำหน่ายไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ดมาให้แล้ว จะได้ไม่สับสนระหว่างชื่อทางการค้าและชื่อวัสดุ
ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ดแต่ละยี่ห้อ | |
ยี่ห้อ | ชื่อทางการค้า |
เอสซีจี (ช้าง) | สมาร์ตบอร์ด |
สยามซิตี้ซีเมนต์ (อินทรี) | คอนวูด |
เฌอร่า | เฌอร่าบอร์ด |
เฌอร่า | ห้าห่วงบอร์ด |
ดูรา | ดูราวันบอร์ด |
TPI | บอร์ดทีพีไอ |
ตราเพชร | ไดมอนด์บอร์ด |
นอกจากไฟเบอร์ซีเมนต์ในรูปแบบบอร์ดแล้ว ยังมีการผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์ให้มีลักษณะอื่นๆ เช่น เป็นเส้น เป็นแผ่นเล็ก ซึ่งเป็นการเลียนแบบการตัดไม้แปรรูปตามที่เคยกล่าวมาข้างต้น เพื่อใช้ก่อสร้างในวัตถุประสงค์อื่น เช่น ฝ้า เชิงชาย คิ้ว บัว เป็นต้น
2. ไม้อัดซีเมนต์
ไม้อัดซีเมนต์ เป็นวัสดุที่ใกล้เคียงกับไฟเบอร์ซีเมนต์มาก แต่จริงๆ แล้วมีข้อแตกต่างกัน เช่น พื้นผิว จะมันเรียบลื่น ทำสีเลียนแบบซีเมนต์ ทำให้ดูคล้ายซีเมนต์ สามารถใช้ได้ทั้งภายนอกภายใน ส่วนใหญ่มักจะทำโชว์ผิวซีเมนต์คล้ายๆ กับสไตล์ลอฟต์ที่นิยมในปัจจุบัน แต่จะมีความหนาแน่นน้อยกว่า โดยจะสามารถแยกออกด้วยการดูตามผิวที่ตัดแผ่น จะเห็นเป็นเศษไม้แยกเป็นชิ้นชัดเจน เนื่องจากจะซีเมนต์บอร์ดจะใช้เศษไม้ผสมกับซีเมนต์ แต่ไฟเบอร์ซีเมนต์จะใช้เส้นใยเซลลูโลสผสมกับซีเมนต์ ทำให้ใส้ในของไม้อัดซีเมนต์หยาบกว่า
ขนาดมาตรฐานที่มีขายในท้องตลาดจะอยู่ที่ 1.20 x 2.40 ม. เหมือนแผ่นวัสดุก่อสร้างทั่วไป ความหนามาตรฐานจะอยู่ที่ 8, 10, 12, 16 และ 20 มม. หรือตามโรงงานผลิต
ยี่ห้อที่มีขายแพร่หลายจะมี บ. วิว่าอินดัสตรีส์ จก. จำหน่ายในยี่ห้อ วีว่าบอร์ด และ SCG จะใช้ชื่อว่า เอสซีจี ซีเมนต์บอร์ด เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้ภายใน ** มักจะมีกลิ่นเหม็นจากแผ่น จึงไม่นิยมใช้ภายใน
3. พลาสวูด
Plaswood หรือ พลาสวูด มาจากคำว่า Plastic กับ Wood มารวมกัน แต่เป็นวัสดุที่ไม่มีส่วนผสมของไม้เลย ที่มีคำว่าวูด (wood) น่าจะเป็นเหตุผลทางด้านการสื่อสารการตลาดว่าเป็นวัสดุใช้แทนไม้ ส่วนผสมหลักของพลาสวูดคือ โพลิไวนิลคลอไรด์ Polyvinylchloride ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง ถ้าอ่านแล้วยังไม่คุ้น ชื่อย่อของมันคือ PVC ใช่แล้ว มันคือวัสดุเดียวกันกับท่อน้ำพีวีซีสีฟ้านั่นแหละ หมายความว่ามันมีคุณสมบัติคล้ายๆ กับพลาสติกมาก สามารถใส่สีได้ ขึ้นรูปได้ง่าย มีความทนทานระดับหนึ่ง ทนความร้อน ทนแดดทนฝนได้ระดับหนึ่ง จึงได้มีการผลิตให้ออกมาในรูปแบบแผ่นหรือบอร์ด เพื่อนำมาใช้แทนไม้นั่นเอง
เนื่องจากความคล้ายพลาสติก ทำให้ผลิตได้ไม่ยาก โรงงานผลิตพลาสติกส่วนใหญ๋สามารถผลิตกันได้ ผู้ผลิตจึงมีเยอะมาก และมักจะมีขนาดมาตรฐานในส่วนของที่เป็นบอร์ดที่ 1.20 x 2.40 ม. เช่นวัสดุก่อสร้างที่เป็นแผ่นทั่วไป สำหรับความหนาก็จะมีตั้งแต่ 1 มม - 25 มม ขึ้นไป
ลักษณะของแผ่นพลาสวูดที่จำหน่ายทั่วไปจะมีสีขาวทั้งแผ่น ผิวมัน ดูเป็นแผ่นพลาสติกหนาๆ บางที่อาจจะมีจำหน่ายเป็นแบบใสด้วย
คุณสมบัติหลักๆ คือ ไม่อมน้ำ (ก็มันเป็นพลาสติกนี่) น้ำหนักเบา ปลวกมอดไม่ขึ้น ดัดโค้งงอได้ ติดไฟแต่ไม่ลามไฟ (คือถ้าเผาก็ติด แต่ดับได้เอง) แต่ก็เหมือนพลาสติกแผ่นคือ ไม่ทนต่อสิ่งแหลมคม เกิดริ้วรอยได้ง่าย
พลาสวูดฉลุลาย ภาพจาก wazzadu.com
นอกจากแผ่นทึบแล้ว ยังมีโรงงานนำไปเข้าเครื่องฉลุ (CNC Engraving) เพื่อเอามาทำฉากสำหรับตกแต่ง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา เป็นที่นิยมสำหรับนักแต่งบ้านและอาคาร
สรุปคุณสมบัติของวัสดุออกมาเป็นตารางได้ดังนี้
ชื่อ | ส่วนผสม | ลักษณะเด่น | ทนไฟ | ทนน้ำ | การใช้งาน |
ไฟเบอร์ซีเมนต์ | ซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ + เซลลูโลส + ซิลิกา | คล้ายปูน แข็งแรง ผิวด้าน ทาสีติดง่าย | ทนไฟได้ประมาณหนึ่ง ไม่ลามไฟ | ไม่อมน้ำ | รับนำหนักได้มาก ปูพื้นที่ความหนา 20 มม. ขึ้นไป |
ไม้อัดซีเมนต์ | ซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ + เศษไม้ | คล้ายปูน + ไม้ แข็งแรง ผิวมัน ทาสีติดยากกว่านิดหน่อย | ทนไฟได้ประมาณหนึ่ง ไม่ลามไฟ | ไม่อมน้ำ | รับนำหนักได้มาก ปูพื้นที่ความหนา 20 มม. ขึ้นไป |
พลาสวูด | โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) | คล้ายพลาสติก ดัดงอได้ | ไม่ทนไฟ ไม่ลามไฟ | ไม่อมน้ำ | ไม่รับน้ำหนัก |
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านเข้าใจรายละเอียดของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างได้มากขึ้น
Modulux เราเลือกไฟเบอร์ซีมเนต์ในการทำงานก่อสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุได้มาตรฐานจากโรงงาน เป็นที่แพร่หลายและนิยมใช้ทั่วไป แข็งแรง ไม่ซึมน้ำ ดูแลรักษาทาสีง่าย เหมาะใช้กับบ้านและที่พักอาศัย
หากมีคำถามเรื่องวัสดุ หรือสนใจสินค้าจากทางเรา สามารถติดต่อได้ที่ 080-306-0820 หรือแอดไลน์มาได้ที่ @modulux เรายินดีให้บริการด้วยความเป็นมืออาชีพและจริงใจ